น้ำประปาเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกๆบ้าน ทุกวันเราจำเป็นต้องใช้น้ำ เราจะมาเผยเคล็ดลับการวางแผนในการเลือกอุปกรณ์จำเป็นที่ใช้กับในระบบน้ำในบ้านให้เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด เพื่อแบ่งปันกับพ่อบ้านและแม่บ้านทุกคนครับ
เลือกปั๊มน้ำขนาดไหนดี?
บางครั้งเราอาจมองว่าเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจเลือก แต่ผู้ผลิตปั๊มน้ำแต่ละรายมักมีแนวทางง่าย ๆ ที่จะให้เจ้าของบ้านเลือกปั๊มแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับพื้นที่การใช้งานภายในบ้านอยู่แล้ว อาทิเช่น บ้าน 1 ชั้นควรใช้ปั๊มน้ำประมาณ 150 w บ้าน 2 ชั้น 250 w และ บ้าน 3-4 ชั้น 400 w เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ผู้ผลิตแต่ละรายนำมาเป็นแนวทางนั้น ก็มาจากการประมาณอัตราการใช้น้ำของอาคารแต่ละประเภท ประกอบกับความสูงของตัวอาคารนั่นเองครับ
ปัจจุบันตามท้องตลาดทั่วไปเรามักจะเรียกชื่อปั๊มน้ำตามขนาดของมอเตอร์(กำลังวัตต์)ที่ใช้งาน แต่ขนาดมอเตอร์ดังกล่าวไม่ได้แสดงถึงความสามารถในการไหลของน้ำแต่อย่างใด ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกขนาดของปั๊มน้ำ เจ้าของบ้านสามารถคำนวณหาขนาดของปั๊มน้ำที่เหมาะสมกับบ้านของตนเองเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อได้อย่างมั่นใจ โดยมีปัจจัยที่ควรพิจารณาดังนี้
1. จุดจ่ายน้ำและปริมาณน้ำที่ต้องการใช้พร้อมกันภายในบ้านทั้งหมด ว่ามีปริมาณกี่ลิตร/นาที โดยพิจารณาร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆภายในบ้าน ซึ่งอุปกรณ์แต่ละชนิดก็จะมีความต้องการในการจ่ายน้ำที่ไม่เท่ากัน
2. จำนวนคนที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน เพื่อให้ทราบว่าจะมีปริมาณน้ำที่ต้องการใช้เท่าไหร่ เพื่อเลือกใช้ปั๊มน้ำได้อย่างเหมาะสม
3. บริเวณความสูงที่สุดของจุดจ่ายน้ำภายในบ้าน เพื่อนำมาพิจารณากับปั๊มแต่ละชนิดว่ามีประสิทธิภาพในการจ่ายน้ำได้ตามความสูงที่ต้องการหรือไม่
ตัวอย่างการพิจารณาเลือกขนาดปั๊มน้ำ
บ้านเดี่ยว 2 ชั้น (ความสูงถึงจุดที่ต้องการจ่ายน้ำประมาณ 7 เมตร) มีจำนวนก๊อกน้ำภายในบ้านทั้งหมด 6 จุด แต่มีโอกาสใช้พร้อมกันทั้งหมด 3 จุด หลักการในการเลือกปั๊มน้ำมีดังนี้
1. ระยะส่งของปั๊มน้ำ ในกรณีนี้เป็นบ้านเดี่ยว 2 ชั้น (ความสูงถึงจุดที่ต้องการจ่ายน้ำประมาณ 7 เมตร) ควรเผื่อค่าแรงเสียดทานที่อาจเกิดขึ้นในท่ออีกประมาณ 30% ดังนั้นควรเลือกปั๊มน้ำที่มีระยะส่งไม่น้อยกว่า 9 เมตร
2. ปริมาณน้ำ (ลิตร/นาที) กรณีนี้ให้พิจารณาจากช่วงเวลาที่มีโอกาสใช้น้ำพร้อมกันทั้งบ้าน สำหรับบ้านหลังนี้มีโอกาสใช้น้ำพร้อมกันทั้งหมด 3 จุด ซึ่งตามปกติก๊อกน้ำมีอัตราการจ่ายน้ำประมาณ 9 ลิตร/นาที (โดยปริมาณน้ำดังกล่าวที่คำนวณมานี้อาจเป็นเพียงแค่ค่าประมาณเท่านั้น หากต้องการความแม่นยำมากขึ้นอาจจะต้องทำการพิจารณาเป็นเฉพาะอุปกรณ์ เนื่องจากอาจจะมีอุปกรณ์บางชนิดที่มีอัตราจ่ายน้ำมากกว่าค่ามาตรฐาน อาทิเช่น ฟลัชวาล์ว หรือ Rain shower เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้จากฉลากที่ติดมากับตัวอุปกรณ์) ดังนั้นปริมาณน้ำขั้นต่ำที่บ้านหลังนี้ต้องการใช้ในระยะเวลาเดียวกันคือ 27 ลิตร/นาที หากตารางผลิตภัณฑ์มีระบุจำนวนก๊อกน้ำ อาจใช้ข้อมูลดังกล่าวร่วมด้วยเพื่อช่วยในการตัดสินใจ ปัจจุบันปั๊มน้ำกลายเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับเจ้าของบ้านอย่างเรา ๆ มากทีเดียว เนื่องด้วยจำนวนผู้อยู่อาศัยที่มากขึ้นส่งผลให้อุปกรณ์ในการใช้น้ำก็ต้องมีมากขึ้นไปโดยปริยาย รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ช่างทันสมัยและต้องการแรงดันน้ำที่มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากเรามีหลักการในการเลือกใช้ปั๊มน้ำอย่างเหมาะสม เจ้าของบ้านจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องแรงดันน้ำที่ไม่เพียงพออีกต่อไป ทั้งสบายใจและสบายกระเป๋าเลยล่ะครับ
ปั๊มน้ำยุคใหม่ ทำงานอัตโนมัติ ประหยัดพลังงาน
ปั๊มน้ำอัตโนมัติ เป็นปั๊มน้ำที่ได้รับการพัฒนาให้ฉลาดขึ้น เหมาะสำหรับการใช้ภายในบ้าน คือ ทันทีที่เปิดก๊อกปั๊มน้ำจะทำงาน พอเลิกใช้ปั๊มก็หยุดทำงาน ขนาดของปั๊มน้ำอัตโนมัติมีตั้งแต่ 100-400 วัตต์ สำหรับ 100–150 วัตต์ เหมาะกับบ้านที่มีผู้อาศัย 2-3 คน แต่ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ ปัจจุบันจะมีปั๊มน้ำอัตโนมัติแบบพิเศษ รุ่นอินเวอร์เตอร์ ขนาด 400 วัตต์ และ 700 วัตต์ ที่จะควบคุมการทำงานด้วยระบบไฟฟ้า มีจอมอนิเตอร์และระบบอิเล็กทรอนิกคำนวณการใช้น้ำ เช่น ปั๊ม 400 วัตต์ ถ้าเราเปิดใช้น้ำแค่จุดเดียวจะกินไฟแค่ 100 วัตต์ เปิดน้ำพร้อมกัน 4 จุด จะกินไฟ 400 วัตต์ เปรียบเทียบกับปั๊มทั่วไปขนาด 200 วัตต์ เปิดน้ำจุดเดียวก็กินไฟ 200 วัตต์ทันที ดังนั้นระบบอินเวอร์เตอร์จึงช่วยเราประหยัดไฟมากกว่า
ปั๊มอัตโนมัติจะมีอยู่ 2 แบบ แบบที่ 1 ปั๊มมีถังแรงดันอากาศ แบบที่ 2 ปั๊มแรงดันคงที่ สำหรับปั๊มมีถังแรงดันอากาศ ข้อดีคืออายุการใช้งานนานกว่า แต่ข้อเสียคือตัวถังทำด้วยเหล็กแล้วเคลือบด้านใน พอใช้ไปนานๆ ด้านในจะเป็นสนิม เวลารั่วต้องเปลี่ยนถังใหม่ แต่ปัจจุบันมีเฉพาะตัวถังขาย ถ้ามอเตอร์ไม่เสียก็เปลี่ยนแต่ถัง ส่วนปั๊มแรงดันคงที่ ข้อดีคือถ้าเราเปิดน้ำ 4 จุดพร้อมกัน แรงดันน้ำจะไหลเท่ากันทั้ง 4 จุด ไม่ว่าก๊อกน้ำจะอยู่ด้านหน้าหรือด้านหลัง ถ้าเทียบทั้งสองแบบที่วัตต์เท่ากัน ปั๊มแรงดันอากาศจะดึงน้ำได้แรงกว่า
ติดตั้งปั้มน้ำจำเป็นต้อง ติดตั้งแท็งก์น้ำ ด้วยอีกไหม ?
หลายคนยังข้องใจว่าเลือกปั๊มได้แล้วแต่จะต้องซื้อแท้งก์น้ำเพิ่มมั้ย? เลือกแท้งก์น้ำขนาดเท่าไหร่? วัสดุแบบไหน? เราขอยกตัวอย่างประโยชน์ของการติดตั้งแท้งก์น้ำเพิ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจดังนี้ครับ
1. สามารถเก็บสำรองน้ำประปาไว้ใช้งานในบ้าน กรณีที่น้ำไม่ไหลหรือมีเหตุฉุกเฉิน ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มีการปิดน้ำเพื่อเดินท่อประปา(ท่อเมนของการประปาฯ)หรือซ่อมท่อประปา เกิดอุบัติเหตุท่อส่งประปาแตกเสียหายทำให้ไม่สามารถส่งน้ำประปามาได้ หรือแม้กระทั่งไฟดับแล้วปั๊มน้ำไม่ทำงานก็ยังมีน้ำสำรองจากแท็งก์น้ำเป็นตัวช่วย
2. เป็นการช่วยพักน้ำ ช่วยให้มีการตกตะกอนของสิ่งแปลกปลอมที่อาจหลุดรอดเข้ามากับน้ำ (สิ่งแปลกปลอมอาจหลุดรอดเข้ามาในระหว่างทางที่มีการตัดต่อท่อประปาหรือมีการซ่อมท่อประปา ก่อนที่น้ำประปาจะมาถึงบ้าน)
3. ช่วยประหยัดค่าไฟได้ เนื่องจากเมื่อน้ำเต็มแท็งก์ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดปั๊มน้ำ ทำให้ปั๊มไม่ต้องทำงานตลอดเวลาที่ใช้น้ำ
แท็งก์น้ำมีแบบไหนบ้าง?
แท็งก์น้ำหลักๆ มีอยู่ 2 แบบ คือแบบบนดินและใต้ดิน ซึ่งแต่ละอันก็มีข็อดีแตกต่างกัน
• แท็งก์น้ำบนดิน เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่พอสมควร โดยถังเก็บน้ำที่ได้รับความนิยมสำหรับการติดตั้งลักษณะนี้คือ แท็งก์น้ำสเตนเลสและแท็งก์น้ำพลาสติกชนิดติดตั้งบนดิน ข้อดีคือดูแลรักษาง่าย เคลื่อนย้ายได้ง่าย
• แท็งก์น้ำใต้ดิน เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ต้องมีโครงสร้างรับน้ำหนักที่แข็งแรง เพื่อป้องกันการทรุดตัวที่อาจจะเกิดขึ้น โดยแท็งก์น้ำที่เหมาะสำหรับการติดตั้งลักษณะนี้ คือ แท็งก์น้ำคอนกรีตและแท็งก์น้ำพลาสติกชนิดติดตั้งใต้ดิน
แท็งก์น้ำต้องมีขนาดไหนจึงจะเหมาะกับบ้านเรา?
เฉลี่ยแล้วในทุกวัน หนึ่งคนจะใช้น้ำอยู่ที่ 200 ลิตร/วัน/คน ซึ่งหมายความว่าแท็งก์น้ำก็ควรคิดจากปริมาณของสมาชิกในบ้านคูณด้วยปริมาณการใช้น้ำต่อวัน (เมื่อได้ผลลัพธ์แล้วควรคูณด้วย 2 อีกที เผื่อสำหรับน้ำไม่ไหลมากเกิน 1 วัน)